Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี Health Check Up

9 ม.ค. 2562



ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี?

   หลายท่านอาจเคยตั้งคำถามว่าทำไมต้องตรวจสุขภาพทุกปี ทั้งที่ร่างกายก็ยังแข็งแรงดี และยังสงสัยว่าการตรวจสุขภาพประจำปีแต่ละครั้งควรจะต้องตรวจอะไรบ้าง เรามาทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของการตรวจสุขภาพกัน 
   การตรวจสุขภาพเป็นการประเมินสภาพร่างกายว่าแข็งแรงหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคในอนาคตหรือไม่ หากตรวจพบว่ามีค่าบางอย่างที่ส่อเค้าว่าอาจพบบางโรค จะช่วยให้เราสามารถป้องกัน และรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ยิ่งตรวจเร็วยิ่งรู้เร็ว ทำให้เราทราบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การตรวจสุขภาพไม่ได้ทำให้เราเสียเวลาเปล่า และอย่ากลัวที่จะรู้ปัญหาสุขภาพของตัวเอง เพราะการพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกย่อมรักษาให้หายได้ง่ายกว่า เร็วกว่า และจะไม่มีคำว่า "สายเกินแก้"

    ทั้งนี้ก่อนที่จะเลือกรายการตรวจ เราต้องพิจารณาถึงความเสี่ยง อายุ และเพศของแต่ละคน เรามาดูกันว่ารายการตรวจหลักๆ มีอะไรบ้าง

ตรวจร่างกายโดยแพทย์ เพื่อดูอาการเบื้องต้นทางร่างกาย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน โดยการตรวจ

  • FBS ระดับน้ำตาลในเลือด
  • HbA1c ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด

ความเสี่ยงในการเป็นโรคไต โดยการตรวจวัดระดับสารเคมีในเลือด ดูการทำงานของไตและบ่งบอกถึงภาวะไตเสื่อมหรือไตวาย

  • BUN, Creatinine ตรวจการทำงานของไต

ความเสี่ยงในการเป็นโรคตับ โดยการตรวจดูความผิดปกติของเอนไซม์ตับ หากค่าสูงกว่าปกติแสดงถึงภาวะเซลล์ตับผิดปกติซึ่งจะบอกถึงโรคต่าง ๆ เช่น โรคตับอักเสบ ตับแข็ง

  • Albumin ตรวจโปรตีนในเลือด
  • Alkaline Phosphatase ตรวจการทำงานของตับ
  • Direct Bilirubin ตรวจการทำงานของตับและทางเดินน้ำดี
  • AST ตรวจการทำงานของตับ
  • ALT ตรวจการทำงานของตับ
  • Total Bilirubin ตรวจการทำงานของตับและทางเดินน้ำดี
  • Total Protein ตรวจโปรตีนในเลือด
  • Fibroscan ดูรอยโรคที่เนื้อตับ เป็นต้น

ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการตรวจดูปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ระยะต้น ป้องกันการเกิดเส้นเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจพิการ หากปล่อยไว้ อาจทำให้เสียชีวิตหรืออัมพาต

  • ABI ตรวจการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงหลอดเลือดส่วนปลาย
  • EKG ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • Exercise Stress Test (EST) ตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน
  • HDL – Cholesterol ตรวจไขมันชนิดดี
  • LDL – Cholesterol ตรวจไขมันชนิดไม่ดี
  • Total Cholesterol ตรวจไขมันคลอเรสเตอรอล
  • Triglyceride ตรวจไขมันไตรกลีเซอไรค์

ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่ระยะต้น เพื่อป้องกันการเสียชีวิต เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งนรีเวช มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร

  • AFP ค่าบ่งชี้มะเร็งตับ
  • CEA ค่าบ่งชี้มะเร็งลำไส้
  • PSA ค่าบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ThinPrep Pap smear Test ตรวจมะเร็งปากมดลูก
  • Digital Mammogram (with Ultrasound Breast) ตรวจมะเร็งเต้านม
  • Ultrasound Upper Abdomen ตรวจอวัยวะในช่องท้องส่วนบน
  • Ultrasound Lower Abdomen ตรวจอวัยวะในช่องท้องส่วนล่าง

ความเสี่ยงในการที่ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ อาจเป็นเนื้องอก มะเร็งต่อมไทรอยด์ คอพอก

  • TSH, Free T3, Free T4

และความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายอื่น ๆ ที่จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต เช่น โรคเกาท์ โรคกระดูกพรุน โรคความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อ มีจุดหรือก้อนที่ปอด และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ

ข้อแนะนำสำหรับการตรวจสุขภาพทั่วไป

  • โปรดงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ยกเว้นน้ำดื่ม ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อย 8 ชั่วโมง กรณีที่มีการตรวจเอกซเรย์ทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper GI) ต้องงดอาหารและน้ำทุกชนิด
  • เพื่อความสะดวกและรวดเร็วของท่าน กรุณามาถึงก่อนเวลานัดอย่างน้อย 10 นาที
  • กรุณานำผลการตรวจ รายงานด้านการแพทย์หรือประวัติสุขภาพอื่นๆ ที่ท่านมีอยู่มาด้วย เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์
  • คุณสุภาพสตรีที่ตรวจภายใน ควรมาตรวจหลังหมดประจำเดือน 7 วัน
  • หากมีโรคประจำตัว เช่นความดันโลหิต เบาหวาน กรุณานำยาที่ทานอยู่เป็นประจำติดตัวมาด้วย

ในกรณีที่เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย

  • กรุณาสวมเสื้อผ้าที่สบาย และนำรองเท้าสำหรับวิ่งหรือรองเท้ากีฬามาด้วย
  • หากท่านจำเป็นต้องรับประทานอาหารก่อนการตรวจ กรุณาเลือกเฉพาะอาหารว่าง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรือมีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์
  • หากท่านอยู่ในระหว่างการรักษาพยาบาลหรือรับประทานยาอยู่ กรุณาแจ้งพยาบาลก่อนรับการตรวจ
  • หากท่านมีอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจติดขัด กรุณาแจ้งพยาบาลก่อนการตรวจ
สนับสนุนข้อมูลโดย
นพ.สัมพันธุ์ ธนกิจจำรูญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 1745 


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.